รับสารภาพชั้นจับกุมหรือสอบสวน เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานมีเหตุบรรเทาโทษ

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 894/2525

ป.อ. มาตรา 51, 78, 92, 288

โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นในขณะเกิดเหตุ คงมีแต่พยานพฤติเหตุแวดล้อมเพียงปากเดียวซึ่งเบิกความว่าเห็นจำเลยวิ่งออกมาจากไร่อ้อยภายหลังเกิดเหตุ ที่ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนฆ่าผู้ตาย และฆ่าเพราะอะไรโดยวิธีใด ก็เพราะจำเลยให้การรับสารภาพมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงศาล ศาลวางโทษจำคุกตลอดชีวิต เมื่อเพิ่มโทษและลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 33 ปี 4 เดือน จึงเหมาะสมแล้ว

___________________________

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2523 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจใช้แขนรัดคอนางน้ำค้าง ภักดี โดยเจตนาฆ่า จนนางน้ำค้างขาดใจตายสมดังเจตนาจำเลย ดังปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพของแพทย์ท้ายฟ้อง เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งบัว อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม อนึ่งจำเลยนี้อายุกว่า 17 ปี ถูกศาลจังหวัดนครปฐมพิพากษาจำคุกในข้อหาลักทรัพย์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 202/2523 มาแล้ว กลับมากระทำผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 และเพิ่มโทษจำเลยด้วย

จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้องจริง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 วางโทษประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนและชั้นศาลเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 โดยที่ส่วนของการเพิ่มเท่ากับส่วนของการลด จึงไม่เพิ่มและไม่ลดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 51 และเพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นโทษจำคุก 66 ปี 8 เดือน จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกไว้มีกำหนด 33 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2523 เวลา 10 นาฬิกา นายเหมือน วราศิลป์ พี่ชายนางน้ำค้าง ภักดี ผู้ตายเดินผ่านไร่อ้อยที่เกิดเหตุเห็นจำเลยวิ่งออกมาจากไร่อ้อย ครั้นเวลาประมาณ 18 นาฬิกา นายแพ่ง ภักดี สามีผู้ตายมาถามว่าเห็นผู้ตายไหม นายเหมือนตอบว่าไม่เห็น นายแฟงจึงเล่าให้ฟังว่าผู้ตายมาถางหญ้าไร่อ้อยที่เกิดเหตุ นายเหมือนกับนายแฟงจึงไปที่ไร่อ้อยดังกล่าวพบผู้ตายนอนหงายมีผ้าขาวม้าพันคออยู่ ถึงแก่ความตายแล้ว ผ้าถุงของผู้ตายเปิด กางเกงชั้นในถูกตัดออกขาดเห็นอวัยวะเพศ นายเหมือนจึงนึกถึงจำเลยที่วิ่งออกไปจากไร่อ้อยที่เกิดเหตุ จึงพากันไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งรักษาการณ์อยู่ที่วัดศาลาศึก และเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ต่อจากนั้นพันตำรวจตรีสมพร มารศรี กับพวกได้ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ และทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2523 จึงจับจำเลยได้ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพมีใจความว่า ในวันเวลาเกิดเหตุจำเลยพบผู้ตายกำลังถางหญ้าอยู่ในไร่อ้อยแต่ผู้เดียว จึงแอบเข้าไปข้างหลังผู้ตายใช้แขนทั้งสองกอดรัดตัวผู้ตาย ผู้ตายดิ้นและร้องให้คนช่วย จำเลยจึงใช้แขนขวารัดคอผู้ตายจนกระทั่งผู้ตายร้องไม่ออกและหมดสติไป แล้วจำเลยได้ถลกผ้าถุงผู้ตายขึ้นและใช้มีดตัดกางเกงในผู้ตายจนขาดออกเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเรา แต่เห็นว่าผู้ตายไม่รู้สึกตัวเลยจึงใช้หูฟังที่หน้าอกเบื้องซ้ายปรากฏว่าผู้ตายสิ้นใจเสียแล้ว จำเลยจึงใช้ผ้าขาวม้าของผู้ตายพันคอผู้ตายไว้แล้วหลบหนีไป ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.5 จำเลยมีอายุได้ 20 ปี ยังไม่มีภรรยา เพิ่งพ้นโทษคดีลักทรัพย์มาก่อนเกิดเหตุเพียง 12 วัน ส่วนผู้ตายมีอายุได้ 36 ปี มีบุตร 7 คน คนเล็กมีอายุได้ 1 ขวบ

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ศาลควรใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยเพียงใดจึงจะเหมาะสมแก่การกระทำผิด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นในขณะเกิดเหตุคงมีแต่พยานพฤติเหตุแวดล้อมเพียงปากเดียวคือนายเหมือน วราศิลป์ ซึ่งเบิกความว่าเห็นจำเลยวิ่งออกมาจากไร่อ้อยภายหลังเกิดเหตุ ที่ฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนฆ่าผู้ตายและฆ่าผู้ตายเพราะอะไรโดยวิธีใด ก็เพราะจำเลยให้การรับสารภาพมาตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่มาก และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งกฎหมายบัญญัติโทษไว้สามสถาน คือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ตามที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจวางโทษจำคุกตลอดชีวิต เมื่อเพิ่มโทษและลดโทษให้แล้วคงจำคุก 33 ปี 4 เดือนนั้น เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

(พินิจ สังขนันท์-ทวี กสิยพงศ์-ธาดา วัชรานันท์)

แหล่งที่มา

เนติบัณฑิตยสภา

แผนก

หมายเลขคดีแดงศาลชั้นต้น

หมายเหตุ

โจทก์ฎีกาให้ประหารชีวิตจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิตแล้วลดโทษที่ให้การรับสารภาพนั้น ปัญหาว่าควรวางโทษ จำเลยอย่างไรจึงจะเหมาะกับรูปคดีนี้ ซึ่งอาจลงโทษจำคุก 15 ปี ถึง 20 ปี จำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตก็ได้ โดยทั่วไปดุลพินิจในการกำหนดโทษตามมาตรา 288 ก็ควรถือหลัก สาเหตุแห่งการฆ่าและวิธีการฆ่าว่ารุนแรงเพียงใด แต่ฎีกานี้ได้นำกฎหมายลักษณะพยานมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษด้วยพูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าจำเลยไม่รับสารภาพชั้นสอบสวนและชั้นศาลแล้วก็อาจจะไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ ดังนั้นที่ลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตจึงเหมาะสมแล้ว อัมพรณตะกั่วทุ่ง

 หมายเหตุ

หากมีข้อสงสัยประการใดติดต่อ ที่นี้เลย  Tel/Line id : 089-2142456 (ทนายสอง ประธานชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)

Line id : lawyer_2  ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศ ทุกจังหวัด ทนายความ)

ท่านสามารถเข้าเยี่ยมชมศึกษาข้อกฎหมาย คำพิพากษา ได้ที่ www.ปรึกษาคดีฟรี.com

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ