สิทธิได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกัน

เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้ 2 วิธีคือโดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายและวิธีที่สอง เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2544

ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นวิธีที่สอง เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ ประการใดประการหนึ่งตามมาตรา 96ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 และในคดีนี้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ขาดอยู่ได้ ซึ่งเจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป

การใช้สิทธิตามมาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สินเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าหนี้มีประกันผู้เลือกใช้สิทธิตามมาตรา 95 ได้รับชำระหนี้หรือไม่ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่เคยอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 จึงไม่ถูกต้อง

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 19พฤศจิกายน 2530 คดีอยู่ระหว่างการรวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินจำนวน16 โฉนด ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ในขณะทำสัญญาจำนองจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องอยู่ 4 ประเภท คือ1. หนี้เงินกู้ (เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินไทยและเงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ)2. หนี้เงินกู้ระยะสั้น 3. หนี้ค่าปรับในการยกเลิกสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ 4. หนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทสยามราษฎร์ จำกัดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2531 ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านในมูลหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินไทย หนี้เงินกู้ระยะสั้นและหนี้ค่าปรับในการยกเลิกสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(3) และเมื่อวันที่ 16มิถุนายน 2531 ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านในมูลหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทสยามราษฎร์ จำกัด อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 สำหรับคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 95นั้น ผู้คัดค้านมีหมายแจ้งคำสั่งลงวันที่ 13 กันยายน 2532 ให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ส่วนคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2534 อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้คดีถึงที่สุด ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2541 ผู้ร้องได้รับหมายนัดลงวันที่ 2มิถุนายน 2541 จากผู้คัดค้านแจ้งว่าผู้ร้องเลือกใช้สิทธิตามมาตรา 96แล้ว ย่อมหมดสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 95 เสียทั้งสิ้นซึ่งผู้คัดค้านไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านและให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96 แล้ว ย่อมหมดสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอีกต่อไป ผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในมูลหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯ และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินภายในกำหนดเวลาที่ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 91 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้อีกต่อไป คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3) เท่านั้น คำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้เป็นคำสั่งที่ชอบ ส่วนคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) นั้น ได้พิจารณาแต่เพียงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) มิได้พิจารณาถึงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกัน มีสิทธิที่จะเลือกใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 หรือมาตรา 96 เหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกันเพียงมาตราเดียว คือหากใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96 แล้วก็ย่อมหมดสิทธิที่จะถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไป ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ส่วนที่เหลือภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 เมื่อผู้ร้องยื่นคำขอครั้งที่ 2 หลังจากการยื่นครั้งแรกถึง 4 เดือน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้อีก ผู้คัดค้านอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้โดยเข้าใจข้อกฎหมายผิดหลงก็ย่อมมีสิทธิที่จะเพิกถอนได้คำสั่งของผู้คัดค้านชอบแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินไทย หนี้เงินกู้ระยะสั้น และหนี้ค่าปรับในการยกเลิกสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ 3 รายการ อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(3) แล้วผู้ร้องจะใช้สิทธิขอรับชำระหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 2 รายการ อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 ได้หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น"มาตรา 96 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้วขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน(2) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ (3) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ (4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่..." บทบัญญัติของมาตราทั้งสองนี้แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ 2 วิธี วิธีแรก เจ้าหนี้มีประกันใช้สิทธิตามมาตรา 95 โดยถือสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น ดังนี้ กำหนดเวลาให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 จึงไม่มี และหากบังคับชำระหนี้เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้มีประกันย่อมหมดสิทธิขอรับชำระหนี้ที่ยังขาดอยู่จากทรัพย์สินอื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายวิธีที่สอง โดยเจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายใต้เงื่อนไขมาตรา 96 ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ในประการใดประการหนึ่งกล่าวโดยเฉพาะผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันในคดีนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) ในกรณีนี้หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้วได้เงินมายังไม่พอชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้และการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 91 บทบัญญัติทั้งสองมาตราแยกให้เห็นข้อแตกต่างในวิธีการขอรับชำระหนี้และข้อแตกต่างในผลของการใช้สิทธิมาตราใดมาตราหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้มีประกันชอบที่จะเลือกใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 95 หรือมาตรา 96 มาตราใดมาตราหนึ่งเท่านั้นเมื่อผู้ร้องเลือกใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) แล้ว ผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 95 อีกต่อไปที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐและหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 95 นั้น ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องประการต่อไปมีว่า การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 95 แล้วผู้คัดค้านจะเพิกถอนคำสั่งเดิมนี้ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ โดยมีหมายแจ้งคำสั่งลงวันที่ 13 กันยายน 2532 ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) ตามคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 50/2534 ของศาลอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 นั้นเสียซึ่งผู้ร้องฎีกาในข้อนี้ว่า คำสั่งที่อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 ล่วงเลยมานานเกือบ 10 ปี และคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ผู้คัดค้านจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งเดิมนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เพียงแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบว่าจะถือเอาสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันและจะต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าตรวจดูทรัพย์สินเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งว่าให้ได้รับชำระหนี้หรือไม่แต่ประการใด ดังนั้น คำสั่งของผู้คัดค้านในคดีนี้ที่เคยอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 95 เมื่อวันที่ 13กันยายน 2532 จึงไม่ถูกต้อง แม้จะกลับมามีคำสั่งใหม่เป็นว่าไม่อนุญาตในภายหลังซึ่งล่วงเลยมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี คำสั่งของผู้คัดค้านในครั้งก่อนและในครั้งหลังจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสิทธิของผู้ร้องตามกฎหมาย เพราะไม่ทำให้ผู้ร้องได้สิทธิหรือเสียสิทธิแต่ประการใดเมื่อผู้ร้องได้ใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันโดยขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายตามมาตรา 96 แล้วผู้ร้องย่อมหมดสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันสำหรับหนี้เงินกู้ส่วนที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ และหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามมาตรา 95ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้น เมื่อวินิจฉัยมาดังนี้แล้ว ฎีกาของผู้ร้องในปัญหาอื่นนอกจากนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีและไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย"
พิพากษายืน

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ แต่ต้องยอมให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจดูทรัพย์สินนั้น
มาตรา 96 เจ้าหนี้มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ภายในเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เมื่อยินยอมสละทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายแล้ว ขอรับชำระหนี้ได้เต็มจำนวน
(2) เมื่อได้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(3) เมื่อได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่
(4) เมื่อตีราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไถ่ถอนทรัพย์สินตามราคานั้นได้ ถ้าเห็นว่าราคานั้นไม่สมควร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขายทรัพย์สินนั้นตามวิธีการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ตกลงกัน ถ้าไม่ตกลงกัน จะขายทอดตลาดก็ได้แต่ต้องไม่ให้เสียหายแก่เจ้าหนี้นั้น และเจ้าหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้ เมื่อขายได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ถือว่าเป็นราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมาในคำขอ
ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งโดยหนังสือให้เจ้าหนี้ทราบว่าจะใช้สิทธิไถ่ถอนหรือตกลงให้ขายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันภายในกำหนดเวลาสี่เดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ถือว่ายินยอมให้ทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์แก่เจ้าหนี้ตามราคาที่เจ้าหนี้ได้ตีมา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หมดสิทธิไถ่ถอนหรือขายทรัพย์สินนั้น
บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่ตามกฎหมายลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าราคาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน

สิทธิได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันในคดีล้มละลาย

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ