ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนสิทธิบัตร

เครื่องหมายการค้าที่เป็นการดัดแปลงมาจากรูปทรงเรขาคณิตลักษณะสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งยังไม่มีลักษณะการประดิษฐ์เพียงพอถึงขนาดที่จะนับว่าเป็น “ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น” เครื่องหมายการค้าอันพึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นด้วย การที่จะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่
_____________________________________

มาตรา 7 เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ได้แก่ เครื่องหมายการค้าอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่น
เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ
(1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง
(2) คำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
(3) กลุ่มของสีที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ หรือตัวหนังสือ ตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น
(4) ลายมือชื่อของผู้ขอจดทะเบียนหรือของเจ้าของเดิมของกิจการของผู้ขอจดทะเบียน หรือลายมือชื่อของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว
(5) ภาพของผู้ขอจดทะเบียนหรือของบุคคลอื่นโดยได้รับอนุญาตจากบุคคลนั้นแล้ว หรือในกรณีที่บุคคลนั้นตายแล้วโดยได้รับอนุญาตจากบุพการี ผู้สืบสันดาน และคู่สมรสของบุคคลนั้น ถ้ามี แล้ว
(6) ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น
ชื่อ คำ หรือข้อความที่ไม่มีลักษณะตาม (1) หรือ (2) หากได้มีการจำหน่ายเผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นจนแพร่หลายแล้ว ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และพิสูจน์ได้ว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นแล้ว ก็ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5466/2552

เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะของรูปทรงเรขาคณิต โดยอาจมองได้ว่าเป็นการดัดแปลงมาจากรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือรูปวงรี แม้จะมีการตกแต่งด้วยเส้นโค้งและนำความหนาบางและระดับสีเข้มจางมาใช้เพื่อทำให้เกิดความสวยงามและแตกต่างไปจากรูปทรงเรขาคณิตดังกล่าว แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับรูปทรงเรขาคณิตอื่นทั่วๆ ไป โดยเฉพาะหากไม่ได้นำมาวางเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาพร้อมๆ กัน ต่างจากเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพประดิษฐ์รูปทรงเรขาคณิตอื่น ซึ่งสามารถทำให้สาธารณชนเห็นถึงความแตกต่างได้ อันจะถือได้ว่าเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นจนมีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ถูกใช้มาในลักษณะของกรอบภาพที่มีคำว่า “MILO” หรือ “ไมโล” ปรากฏอยู่ข้างในเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าอื่น ๆ ทั่วไปในท้องตลาดก็มีการใช้กรอบภาพในลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่เช่นกัน แม้ว่าจะไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ แต่ก็เห็นได้ว่า ภาพประดิษฐ์ในลักษณะที่เป็นกรอบภาพเช่นนี้ไม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างใดในอันที่จะทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้าจดจำหรือแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าได้ หากนำไปใช้โดยลำพังกับสินค้า เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ ย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่นเช่นใด ถือว่าเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ไม่ใช่ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6)
________________________________

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/34302, ที่ พณ 0704/34303 และที่ พณ 0704/34304 ลงวันที่ 25 เมษายน 2546 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1071/2547, ที่ 1072/2547 และที่ 1073/2547 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 500063, เลขที่ 500064 และเลขที่ 500065 ของโจทก์ และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว เพื่อการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป

จำเลยทั้งสิบให้การว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะทั้งโดยตัวเองและโดยการใช้ หลักฐานที่โจทก์นำแสดงมานั้นแตกต่างจากเครื่องหมายที่ขอจดทะเบียน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/34302 ที่ พณ 0704/34303 และที่ พณ 0704/34304 ลงวันที่ 25 เมษายน 2546 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1071/2547 ที่ 1072/2547 และที่ 1073/2547 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 500063 เลขที่ 500064 และเลขที่ 500065 ของโจทก์ และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเพื่อการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบมีเพียงประการเดียวว่า เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ ของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ในทำนองว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นการดัดแปลงมาจากรูปทรงเรขาคณิตลักษณะสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งยังไม่มีลักษณะการประดิษฐ์เพียงพอถึงขนาดที่จะนับว่าเป็น “ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้น” โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวควบคู่กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “MILO” ไม่เคยใช้แยกต่างหาก เห็นว่า เครื่องหมายการค้าอันพึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้นจะต้องมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นด้วย สำหรับคดีนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปคลื่นประดิษฐ์ โดยโจทก์บรรยายถึงลักษณะของเครื่องหมายนี้ว่า “ใช้แถบเส้นที่มีขนาดความกว้างและความหนาที่แตกต่างกัน และมีความเข้มของสีที่แตกต่างกัน ประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปคลื่นโปร่งขนาดใหญ่ที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแตกต่างจากเครื่องหมายอื่น เมื่อพิจารณาจากส่วนปลายแหลมด้านบนลงมา จะเห็นได้ว่า ในช่วงต้นแถบเส้นจะมีขนาดเล็กและมีสีทึบ แต่แถบเส้นดังกล่าวจะขยายกว้างขึ้นในขณะที่เคลื่อนที่เป็นวงโค้งจากด้านซ้ายไปสู่ด้านขวา โดยความเข้มของสีแถบเส้นจะค่อย ๆ จางลงไป จนกระทั่งมีสีอ่อนที่สุดแล้วแถบเส้นดังกล่าวก็จะเคลื่อนที่วกกลับเป็นวงโค้งทางด้านซ้ายมือจนถึงปลายแหลมด้านล่าง ณ จุดนั้นแถบเส้นจะกลับมีลักษณะเป็นแถบเส้นที่มีขนาดเล็กและมีสีทึบอีกครั้ง แล้วเคลื่อนที่เป็นวงโค้งจากด้านขวากลับไปสู่ด้านซ้าย โดยแถบเส้นดังกล่าวจะขยายกว้างขึ้นและมีสีจางลง ในที่สุดจะวกกลับไปทางด้านขวาจดกับส่วนปลายแหลมด้านบน” จึงพิจารณาได้ว่าเครื่องหมายของโจทก์นี้เป็นภาพประดิษฐ์ตามความหมายของคำว่า “เครื่องหมาย” ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 เมื่อโจทก์มีความประสงค์จะใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้า เพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนี้ของโจทก์แตกต่างจากสินค้าของบุคคลอื่น ก็ย่อมถือว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 แต่จะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 ว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ ซึ่งเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์นี้เป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะของรูปทรงเรขาคณิต โดยอาจมองได้ว่าเป็นการดัดแปลงมาจากรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือรูปวงรี อย่างไรก็ดี แม้จะมีการตกแต่งด้วยเส้นโค้งและนำความหนาบางและระดับสีเข้มจางมาใช้เพื่อทำให้เกิดความสวยงามและแตกต่างไปจากรูปทรงเรขาคณิตดังกล่าว แต่เป็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับรูปทรงเรขาคณิตอื่นทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะหากไม่ได้นำมาวางเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาพร้อม ๆ กัน ต่างจากเครื่องหมายการค้าที่เป็นภาพประดิษฐ์รูปทรงเรขาคณิตอื่นซึ่งสามารถทำให้สาธารณชนเห็นถึงความแตกต่างได้ อันจะถือได้ว่าเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นจนมีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าของโจทก์และบรรจุภัณฑ์ของสินค้าโจทก์ที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วจะเห็นว่า เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ถูกใช้มาในลักษณะของกรอบภาพที่มีคำว่า “MILO” หรือ “ไมโล” ปรากฏอยู่ข้างในเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าอื่น ๆ ทั่วไปในท้องตลาดก็มีการใช้กรอบภาพในลักษณะเช่นนี้ปรากฏอยู่เช่นกัน แม้ว่าจะไม่เหมือนกับเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ แต่ก็เห็นได้ว่า ภาพประดิษฐ์ในลักษณะที่เป็นกรอบภาพเช่นนี้ไม่มีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อย่างใดในอันที่จะทำให้สาธารณชนหรือผู้ใช้สินค้าจดจำหรือแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าตามที่โจทก์กล่าวอ้างได้ หากนำไปใช้โดยลำพังกับสินค้า เครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่นเช่นใด ถือว่าเครื่องหมายการค้ารูปคลื่นประดิษฐ์ของโจทก์ไม่ใช่ภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบฟังขึ้น...

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.
( บุญรอด ตันประเสริฐ - พลรัตน์ ประทุมทาน - พรเพชร วิชิตชลชัย )
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายตุล เมฆยงค์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ