สาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เหตุผลของศาลอุทธรณ์ได้กล่าวโดยละเอียดชัดเจนโดยมีสำเนาพยานเอกสารไม่ว่าสำเนารายงานการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด... ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา
________________
มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง
(วรรค 2)ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวน พิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5765/2552

ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่โต้แย้งเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มาไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ จึงเป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับในกิจการของจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องขอให้รับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ประเภทหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปจัดการงานของห้างดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ จึงเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
________________________________

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 1,110,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต ก่อนสืบพยาน โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยร่วมออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 562,431 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 พฤศจิกายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้กล่าวโดยละเอียดชัดเจนซึ่งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบแล้ว โดยเฉพาะที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำมาสืบเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มีสำเนาพยานเอกสารไม่ว่าสำเนารายงานการจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดทับปุดเจริญโชค ทั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไว้กับจำเลยร่วมและเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลในช่วงเวลาเกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงไม่พอฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่โต้แย้งเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มาอีกนั้นไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ ศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของรองประธานศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นฎีกาในข้อที่เป็นสาระแก่คดีอันไม่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้สอดเข้าไปจัดกิจการห้างหุ้นส่วนดังกล่าว โดยรับว่าเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเข้าร่วมเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนดังกล่าวในฐานะส่วนตัวต่อโจทก์ทั้งสองด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 ขับในกิจการของจำเลยที่ 2 มิได้ฟ้องขอให้รับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ประเภทหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปจัดการงานของห้างดังกล่าว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ จึงเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ.
( มนตรี ยอดปัญญา - วีระพล ตั้งสุวรรณ - อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย )
ศาลจังหวัดพังงา - นายสัมพันธ์ พิทักษ์แท้
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 - นายวิทยา จิญกาญจน์

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายอาสา - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ